พระพิจิตร พิมพ์เม็ดน้อยหน่า กรุท่าฉนวน

รูปพระเครื่อง
รูปพระเครื่อง

รายละเอียด

พระพิจิตร พิมพ์เม็ดน้อยหน่า กรุท่าฉนวน
 มาใหม่
..:: อธิบายเพิ่มเติม ::..

พระพิจิตร พิมพ์เม็ดน้อยหน่า กรุท่าฉนวน จ.พิจิตร ซึ่งเป็นกรุที่หายากและนิยม เป็นพระเนื้อดินผสมผงใบลาน สีดำแห้งแกร่งมาก ส่องด้วยกล้องจะเห็นมีเม็ดดำๆ เล็กๆ อยู่บนผิว และปนอยู่ในเนื้อพระ ซึ่งคนโบราณเรียกว่า "แร่เหล็กน้ำพี้" ผสมไว้ด้วย พระมีขนาดเล็ก แต่พุทธคุณเข้มขลังมาก มีพุทธคุณทางด้านแคล้วคลาดและอยู่ยงคงกระพันชาตรีแล้ว ยังป้องกันงูเงี้ยวเขี้ยวขอได้อีกด้วย ทำให้คนโบราณนิยมอมไว้ในปาก เพื่อป้องกันภัยอันตรายต่างๆ
จังหวัดพิจิตร ได้ชื่อเป็นเมืองของนักรบในสมัยโบราณ ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยตลอดมาจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา เมืองพิจิตรจัดเป็นเมืองหน้าด่านมาโดยตลอด ดังนั้นพระเครื่องเมืองพิจิตร โดยส่วนใหญ่จึงมักจะมีพุทธคุณเด่นทางด้านอยู่ยงคงกระพันชาตรี พระเครื่องเมืองพิจิตรมีเอกลักษณ์ที่เป็นที่รู้จักกันมากก็คือพระเครื่องขนาดเล็กจิ๋ว ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าพระเครื่องของเมืองอื่นๆ แต่ถึงจะมีขนาดเล็กก็เล็กพริกขี้หนู เข้มขลังในด้านพุทธคุณ ในสมัยก่อนนั้น จัดเป็นพระเครื่องยอดนิยมของสังคมผู้นิยมพระเครื่องเลยทีเดียว
พระเครื่องเมืองพิจิตร โดยส่วนใหญ่เราก็มักจะนึกถึงพระซึ่งมีขนาดเล็กๆ เช่น พระพิจิตรเม็ดข้าวเม่า พระนาคปรกใบมะขาม พระพิจิตรเม็ดน้อยหน่า พระพิจิตรเขี้ยวงู เป็นต้น ซึ่งความเป็นจริงแล้วพระเครื่องเมืองพิจิตรก็มีพระเครื่องที่มีขนาดใหญ่อยู่หลายอย่างด้วยกัน เช่น พระพิจิตรวัดนาคกลาง พระนาคปรกพิจิตรกรุมะละกอ พระพิจิตรหัวดง และพระพิจิตรใบตำแย เป็นต้น พระเครื่องเมืองพิจิตรทุกพิมพ์ล้วนแล้วแต่เป็นพระที่หาพระแท้ๆ ยากแทบทั้งสิ้น เนื่องจากมีการทำปลอมเลียนแบบมาช้านาน จากความนิยมกันมาตั้งแต่ในอดีต
กรุที่พบพระเมืองพิจิตรนี้ ก็พบด้วยกันหลายกรุ เช่น
กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
กรุวัดนาคกลาง
กรุท่าฉนวน
กรุวัดเขมาภิรตาราม
กรุมะละกอ กรุวัดช้าง
กรุวัดท่าสะท้อน
กรุวัดโพธิ์ประทับช้าง ฯลฯ
พระเครื่องเมืองพิจิตรมีอายุการสร้างตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเรื่อยมาจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา
พระพิจิตร ที่ทำให้พระกรุเมืองพิจิตรมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่ว ก็คือ พระพิจิตรเม็ดน้อยหน่า และ พระพิจิตรเขี้ยวงู ในสมัยรุ่นคุณทวด คุณปู่ คุณย่านั้น การเลี่ยมพระห้อยคอ ยังไม่ค่อยมีการเลี่ยมแพร่หลายนัก อย่างดีก็ถักลวดหรือถักเชือกห้อยคอ หรือไม่ก็ห่อผ้ามัดห้อยไว้ แต่ถ้าพระมีขนาดเล็กเช่นพระพิจิตรเม็ดน้อยหน่านี้ ในสมัยนั้นนิยมอมใส่ปากกันเลย เนื่องด้วยมีขนาดเล็ก รูปทรงมนๆ และเป็นพระเนื้อดิน อมไว้ในปากก็เหมือนกับอมลูกอมประมาณนั้นครับ เวลาจะเดินทางไปไหน ก็มักจะนำพระมาอาราธนาอมใส่ปากไว้ เพื่อคุ้มครอง ป้องกันภัย การเดินทางค้าขายระหว่างจังหวัด ในสมัยนั้นมีอันตรายอยู่มาก จากสัตว์ร้ายนานา งูเงี้ยวเขี้ยวขอ อีกทั้งโจรปล้นก็มีมากมาย
ด้วยเหตุนี้เอง พระพิจิตรเม็ดน้อยหน่าจึงมีประสบการณ์ทางด้านแคล้วคลาดและอยู่ยงคงกระพันชาตรีอยู่เนืองๆ จนร่ำลือกันไปทั่ว ต่างก็เสาะหาพระพิจิตรเม็ดน้อยหน่า และพิจิตรเขี้ยวงูกันมาก บ้างก็เล่าลือกันว่า ขนาดปูนกินหมากยังไม่กัดปากเลย ถ้าอมพระพิจิตรเม็ดน้อยหน่า พระบางองค์ที่พบจึงปรากฏคราบน้ำหมากจับอยู่ที่ผิวพระ
พระเม็ดน้อยหน่านี้ มีพบที่จังหวัดอื่นๆอีกด้วย เช่น เมืองกำแพงเพชร เนื้อพระมักจะเป็นเนื้อดินสีออกแดง ของเมืองสุโขทัย เนื้อจะหยาบกว่าเมืองพิจิตร เมืองกำแพงเพชร ที่อยุธยาก็ยังพบบ้าง แต่ศิลปะและเนื้อหาจะดูอ่อนกว่า (อายุการสร้าง) สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในยุคหลังกว่าทั้งสามเมืองข้างต้น พระพิจิตรพิมพ์เขี้ยวงูนั้น พบเฉพาะที่เมืองพิจิตรเท่านั้น
พระพิจิตรเม็ดน้อยหน่า และพระพิจิตรเขี้ยวงู พระทั้งสองอย่างนี้มีพุทธลักษณะคล้ายคลึงกันมาก เนื้อหาจะเป็นพระเนื้อดินเผาแบบเดียวกัน และก็พบในกรุเดียวกันคือกรุท่าฉนวน ด้วยลักษณะกลมๆ รีๆ ของพระพิจิตรเม็ดน้อยหน่า ละม้ายคล้ายคลึงกับเม็ดน้อยหน่านี่เอง จึงเป็นที่มาของชื่อเรียกกันครับ แต่พระพิจิตรเขี้ยวงูจะมีองค์พระที่เรียวผอมกว่าพระพิจิตรเม็ดน้อยหน่า ส่วนกรอบนอกก็จะคล้ายๆกัน ต้องสังเกตที่องค์พระเป็นหลัก ตัวองค์พระนั้นจะมีลักษณะเรียวๆ แหลมๆ จึงแยกเรียกชื่อกัน โดยนำเอาพุทธลักษณะเรียวแหลมมาตั้งชื่อเป็นพระพิจิตรพิมพ์เขี้ยวงู
พระพิจิตรเม็ดน้อยหน่าและพระพิจิตรเขี้ยวงู จะมีเนื้อที่ละเอียด โดยส่วนมากจะมีสีออกดำๆ เป็นหลัก แต่ที่เป็นเนื้อสีอื่นๆ ก็มี เช่นสีออกแดงอมส้ม หรืออมเหลือง แต่ก็มีเป็นส่วนน้อย กรุที่พบจะมีกรุท่าฉนวน และกรุมะละกอ
สรุปพระพิจิตรเม็ดน้อยหน่า และพระพิจิตรพิมพ์เขี้ยวงู ก็พบที่กรุเดียวกัน แต่เป็นคนละแม่พิมพ์กันเท่านั้นครับ ขนาดก็ไล่เลี่ยกัน แต่พระพิจิตรเขี้ยวงูจะดูผอมเรียวๆ กว่า และพบน้อยกว่าพระพิจิตรเม็ดน้อยหน่า อีกอย่างหนึ่งก็คือ พระพิจิตรพิมพ์เขี้ยวงูนั้นพบเฉพาะที่เมืองพิจิตรเท่านั้น ค่านิยมก็จะสูงกว่าพิมพ์เม็ดน้อยหน่า
พระพิจิตรเขี้ยวงูนั้น เท่าที่พบมีจำนวนน้อยกว่าพระพิจิตรเม็ดน้อยหน่ามากทีเดียว แทบจะกลายเป็นตำนาน ซึ่งหาพบยากจริงๆ จึงเป็นที่นิยมเสาะหามากกว่า และตามความเชื่อกันว่า พระพิจิตรเขี้ยวงูนั้นนอกจากจะมีพุทธคุณทางด้านแคล้วคลาดและอยู่ยงคงกระพันชาตรีแล้ว ยังป้องกันงูเงี้ยวเขี้ยวขอได้อีกด้วย
เรื่องราวจริงในอดีต...ของ บุญเพ็ง หีบเหล็ก นักโทษประหารคนสุดท้ายของกรุงรัตนโกสินทร์ ยังอมพระเมืองพิจิตรไว้ในปาก ทำให้มีดดาบเพชฌฆาตไม่ระคายผิว_บุญเพ็ง หีบเหล็ก เป็นฆาตกรโรคจิตเมื่อลงมือฆ่าใครแล้วจะหั่นศพเป็นชิ้นๆแล้วใส่ "หีบเหล็ก" โยนทิ้งน้ำจึงมีฉายาว่า บุญเพ็ง หีบเหล็ก...ในช่วงประหารชีวิตนายบุญเพ็งนั้น เพชฌฆาตรำดาบอยู่ครู่หนึ่ง แล้วได้ลงดาบอันคบกริบลงบนคอ แทนที่คอจะขาดเลือดพุ่งกระฉูดกลับกลายเป็นว่า คมดาบนั้นไม่ได้ระคายเคืองผิวเลยแม้แต่น้อย จนเพชฌฆาตพูดว่า "เอ็งมีอะไรดี ให้เอาออกมาเสียเถอะมิเช่นนั้นจะเอาไม้รวกสวนทวาร(ก้น) แล้วจะเจ็บปวดทรมานจนตาย" หลังจากนั้นเพชฌฆาตก็เอาพระพิจิตร ที่นายบุญเพ็ง อมไว้ในปากขว้างทิ้งไปในกอไผ่ คราวนี้เพชฌฆาตรำดาบใหม่ จนบุญเพ็งเคลิ้มเผลอ ทันใดนั้นคมดาบก็ฟันดังฉับ สิ้นเสียงคมดาบ คราวนี้คอของนักโทษบุญเพ็งขาดหัวกระเด็น จนเลือดพุ่งกระฉูด ผู้คนที่มาดูต่างร้องวี๊ดว้ายระงม ศพของบุญเพ็ง หีบเหล็ก ถูกนำไปฝังไว้ในป่าช้านั้นเอง จนภายหลังญาติมาจัดการเผาศพตามพิธี และกล่าวกันว่า รอยสักช่วงแผ่นหลัง ของเขา เผาไฟไม่ไหม้ ญาติเก็บกระดูกใส่เจดีย์ไว้ข้างอุโบสถวัด จนช่วงหลังเจดีย์ถูกรื้อออก ทางวัดภาษี จึงได้ให้ช่างปั้นรูปปั้นจำลอง ไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์ เมื่อ พ.ศ.2537 ตั้งไว้ในศาลเล็ก ๆ ติดกับวิหาร ซึ่งเป็นอนุสรณ์ว่า เขาเป็นนักโทษประหารคนสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ. 2474 ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2475 ศาลบุญเพ็ง หีบเหล็ก แต่กลับกลายเป็นศาลที่มีคนไปกราบไหว้บูชา เสี่ยงโชคเสี่ยงลาภ ได้เงินบุญมาทำนุบำรุงวัดอยู่มิใช่น้อย_ใครอยากจะไปย้อนรอยประวัติศาสตร์ และอยากจะไปทำบุญ ก็เชิญ วัดภาษี ตั้งอยู่ที่ ซอยเอกมัย23 แขวงคลองตันเหนือ กรุงเทพ

2023-05-24 23:12:02
405 ครั้ง
Direk-SiamPra
0959590980
0959590980