รูปหล่อโบราณ หลวงปู่ปรง วัดธรรมเจดีย์ รุ่นแรก สิงห์บุรี
รายละเอียด
โชว์พระ
รูปหล่อโบราณ หลวงปู่ปรง วัดธรรมเจดีย์ รุ่นแรก สิงห์บุรี
หลวงปู่ปรงมีนามเดิมว่า "ปรง ปิ่นทอง" ชาตะปีขาล พ.ศ.๒๔๔๕ เป็นชาว ต.พักทัน อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี เมื่อมีอายุครบบวชท่านได้อุปสมบท ณ วัดห้วยเจริญสุข ต.พักทัน อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี ซึ่งอยู่ใกล้กับบ้านพักของท่าน
โดยมีพระครูศรีวิริยะโสภิต (หลวงปู่ศรี) วัดพระปรางค์ ต.เชิงกลัด อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี เป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากนั้นหลวงปู่ปรงได้ฝากตัวศึกษาวิชาไสยเวทกับ หลวงปู่ศรี พระคณาจารย์ทางไสยเวทชื่อดังของ จ.สิงห์บุรี อยู่ถึง ๖ พรรษา โดยได้ศึกษาวิชาไสยเวทกับหลวงปู่ศรี พร้อมๆ กับอีกหลายพระคณาจารย์ อาทิ หลวงพ่อแพ วัดพิกุลทอง อ.ท่าช้าง จ.สิงห์บุรี, หลวงพ่อเจ้ย วัดห้วยเจริญสุข อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี, หลวงพ่อบัว วัดแสวงหา อ.แสวงหา จ.อ่างทอง, หลวงพ่อกวย วัดโฆสิตาราม อ.สวรรค์บุรี จ.ชัยนาท, หลวงพ่อหร่ำ วัดวังจิก อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี ฯลฯ
หลวงปู่ปรง ได้ศึกษาวิชาไสยเวทกับหลวงปู่ศรี ในหลายๆ แขนง ทั้งด้านเมตตามหานิยม แคล้วคลาด คงกระพันชาตรี มหาอุด และการสร้างเครื่องรางของขลังต่างๆ
สำหรับสุดยอดวิชาที่หลวงปู่ปรง ได้ศึกษากับหลวงปู่ศรี คือ การสร้าง "ตะกรุดกระดอนสะท้อน" ซึ่งหลวงปู่ศรีจะบอกกล่าวไว้ก่อนว่า ผู้ใดเข้ามาศึกษาวิชานี้ ถ้าพลังจิตไม่แข็งกล้าพอจะศึกษาไม่สำเร็จ และจะต้องวิกลจริตเป็นบ้าในที่สุด
วิชานี้จึงไม่ค่อยมีผู้ใดมาขอศึกษากับหลวงปู่ศรี แต่ หลวงปู่ปรง ได้ตัดสินใจขอศึกษาวิชานี้กับหลวงปู่ศรี และศึกษาจนสำเร็จในที่สุด
นอกจากหลวงปู่ปรง ได้ศึกษาวิชาไสยเวทกับหลวงปู่ศรี จนเจนจบและเชี่ยวชาญดีแล้ว ท่านยังไปฝากตัวเรียนวิชาไสยเวทกับพระคณาจารย์อื่นๆ อีกหลายรูป เพื่อให้มีความรู้ทางด้านไสยเวทอย่างแตกฉานในหลายๆ ด้าน เช่น หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ จ.นครสวรรค์, หลวงพ่อต้วม วัดสนามชัย จ.ชัยนาท, หลวงพ่ออิ่ม วัดหัวเขา จ.สุพรรณบุรี, หลวงพ่อเคน วัดดงเศรษฐี จ.อุทัยธานี ฯลฯ
โดยที่หลวงปู่ปรง เป็นพระคณาจารย์ที่ร้อนวิชา และด้วยชะตาลิขิตทำให้ท่านต้องลาสิกขาออกมามีครอบครัว ใช้ชีวิตแบบฆราวาส มีบุตรชายสืบสายโลหิต ๑ คน
นอกจากนั้นท่านเคยใช้ชีวิตแบบนักเลง ทำให้ท่านต้องคอยหลบหลีกเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะเข้ามาจับกุม เนื่องจากชื่อของท่านถูกขึ้นบัญชีดำไว้ที่กรมตำรวจในขณะนั้น แต่ท่านก็หลบหลีกมาได้ทุกครั้ง เพราะใช้วิชาล่องหน กำบังกาย อย่างชำนาญ
ต่อมาท่านรู้สึกเบื่อหน่ายและปลงตกในชีวิต จึงเข้ารับการอุปสมบทอีก ครั้งเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๔ ขณะอายุได้ ๕๙ ปี ณ วัดราชประสิทธิ์ ต.โพกรวม อ.เมือง จ.สิงห์บุรี โดยมีพระครูประสิทธิ์สุนทร (หลวงพ่อเตี้ยม) เจ้าอาวาสวัดราชประสิทธิ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ โดยได้รับฉายาว่า "สาสโน" มีความหมายว่า "ศาสนา"
หลังจากนั้นท่านได้ออกจาริกธุดงค์ไปทาง จ.อุทัยธานี และออกไปถึงประเทศกัมพูชา เป็นเวลาประมาณ ๓ ปี จึงได้กลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดธรรมเจดีย์ ซึ่งแต่เดิมเป็นวัดร้าง ต่อมาได้รับการพัฒนาขึ้นมาเป็นวัดอีกครั้งหนึ่ง โดยหลวงปู่ปรง และชาวบ้านที่อยู่ในละแวกนั้นได้ช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างแข็งขัน จนหลวงปู่ปรง ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดธรรมเจดีย์ยุคใหม่
ในด้านคุณวิเศษของหลวงปูปรงนั้น ท่านมีมากมาย อาทิ ท่านสามารถล่องหนหายตัวได้ ถ่ายรูปท่านไม่ติด (ถ้าไม่ขออนุญาต) แก้อาถรรพณ์ได้ทุกชนิด ฯลฯ
หลวงปู่ปรง ได้อยู่จำพรรษาที่วัดธรรมเจดีย์ เป็นเวลาถึง ๓๐ พรรษา ในบั้นปลายของชีวิต ท่านได้ย้ายมาจำพรรษาอยู่ที่วัดห้วยเจริญสุข ซึ่งเป็นวัดบ้านเกิดของท่าน และเป็นวัดที่ท่านได้อุปสมบทครั้งแรก
ที่วัดนี้หลวงปู่ปรงได้ช่วยบูรณปฏิสังขรณ์อุโบสถที่ชำรุดทรุดโทรมจนคืนสู่สภาพเรียบร้อยแข็งแรงดี ท่านได้มรณภาพลงเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๐ ด้วยโรคชรา สิริรวมอายุได้ ๙๕ ปี
สำหรับวัตถุมงคลที่หลวงปู่ปรงได้สร้างไว้ มีหลายประเภท เช่น พระพิมพ์สมเด็จเนื้อผง พระปิดตาเนื้อผงรูปถ่าย รูปหล่อ เหรียญ ตะกรุด ผ้ายันต์ ล็อกเกต แหวนมงคลเกล้า ปลัดขิก รักยม ฯลฯ
การปลุกเสกวัตถุมงคล ท่านจะอัญเชิญพระอรหันต์ ครูบาอาจารย์ของท่านมาร่วมปลุกเสกด้วยเสมอ โดยตัวท่านเองจะปลุกเสกด้วยพระคาถาชินบัญชร และพระคาถาบทอื่นๆ ตามความเหมาะสมของวัตถุมงคลนั้นๆ
การสร้างวัตถุมงคลประเภทรูปหล่อหลวงปู่ปรง ได้อนุญาตให้สร้างเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๓ โดยพระอาจารย์มานะ (แดง) เจ้าอาวาสวัดช่องลม ต.โพชนไก่ อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี ได้รับอนุญาตให้สร้างขึ้นเพื่อสมนาคุณแก่ผู้ร่วมบริจาคทรัพย์สมทบทุนบูรณะศาสนสถานในวัดช่องลม
รูปหล่อที่จัดสร้างขึ้นเป็นงานหล่อแบบโบราณ โดยหล่อเป็นช่อ ตัดแต่งด้วยตะไบตามสูตรโบราณ ใต้ฐานตัน มียันต์พุทธซ้อนอยู่ที่ผ้าสังฆาฏิด้านหน้า
ส่วนฐานด้านหน้ามีอักษรเขียนว่า "หลวงปู่ปรง" ด้านหลังเขียนว่า "วัดธรรมเจดีย์" เนื้อทองผสม โดยมีมวลสารพิเศษผสมลงไปด้วย คือ แผ่นจารทอง นาก เงิน ของ หลวงปู่ปรง และของหลวงพ่อกวย หลวงพ่อเจ้ย ที่หลวงปู่ปรงเก็บรักษาไว้ (พระคณาจารย์ทั้งสองท่านเป็นสหธรรมิกของหลวงปู่ปรง)
พระที่จัดสร้างขึ้นนี้มีปริมาณน้อย จำนวน ๕๙๙ องค์ ลักษณะโดยทั่วไป ไม่ค่อยสวยงามแต่ดูเข้มขลัง ที่ไม่ค่อยสวยงามเนื่องจากช่างรีบจัดสร้าง เพื่อให้ทันพิธีพุทธาภิเษก ซึ่งตรงกับวันเสาร์ห้า (วันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๓๓)
รูปหล่อโบราณหลวงปู่ปรง รุ่นนี้ได้ทำพิธีพุทธาภิเษกที่อุโบสถวัดช่องลม โดยมีพระคณาจารย์ชื่อดังของ จ.สิงห์บุรี และจังหวัดใกล้เคียงในยุคนั้น มาร่วมปลุกเสกหลายท่าน อาทิ หลวงปู่ปรง วัดธรรมเจดีย์, หลวงพ่อแพ วัดพิกุลทอง, หลวงพ่อจวน วัดหนองสุ่ม, หลวงปู่เจ๊ก วัดระนาม เป็นต้น
นอกจากนี้หลวงปู่ปรง ยังนำไปปลุกเสกต่อที่วัดธรรมเจดีย์ อีกนานนับเดือนจนมั่นใจ จึงได้มอบให้วัดช่องลม นำไปสมนาคุณแจกจ่ายตามวัตถุประสงค์
อนึ่ง ในพิธีนี้ได้นำเหรียญรุ่นแรกของหลวงปู่ปรง ๒ แบบ คือ เหรียญใบมะยม และเหรียญนั่งทับปืน เข้าร่วมพิธีพุทธาภิเษกด้วย
รูปหล่อโบราณหลวงปู่ปรงรุ่นนี้ มีพุทธคุณสูงมาก ทางด้านแคล้วคลาด คงกระพันชาตรี และมหาอุด มีผู้นำไปทดลองยิงด้วยอาวุธปืน ปรากฏว่ายิงไม่ออก เมื่อยิงซ้ำถึงกับปากกระบอกปืนแตก คนที่พกพาติดตัวไปถูกคู่อริยิง ฟันก็ไม่เข้า
นอกจากนี้เมื่อนั่งโดยสารไปตามยวดยานพาหนะต่างๆ ก็แคล้วคลาดปลอดภัยจากอุบัติเหตุต่างๆ จนเป็นที่โจษจันกันอย่างกว้างขวาง
ในด้านราคาที่เช่าหากัน ถ้าสภาพสวยสมบูรณ์อยู่ที่หลักหมื่นต้น และทะยานสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งคาดว่าจะทะลุหลักหมื่นกลางในไม่ช้านี้อย่างแน่นอน
อนึ่ง ถึงแม้ว่ารูปหล่อโบราณหลวงปู่ปรง จะมีรูปลักษณ์ที่ไม่ค่อยสวยงาม แต่ก็เปรียบเสมือนผ้าขี้ริ้วห่อทอง เนื่องจากพุทธคุณสูงสุดยอด
สภาพสวยเดิมเก่า
1741 ครั้ง
ศุกาณ
0899559513
garn0899559513