เหรียญทรงผนวช(บล็อคธรรมดา) วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อปี พ.ศ.2508
รายละเอียด
โชว์พระ
พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งฉายไว้ในขณะทรงผนวชเมื่อปี พ.ศ. 2499 นั้น ได้ถูกอัญเชิญมาประดิษฐานบนเหรียญที่ระลึกหลายครั้ง เหรียญหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างสูงและเป็นที่แสวงหาของนักสะสมคือ เหรียญที่ออกโดยวัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อปี พ.ศ. 2508 รู้จักกันในนาม เหรียญทรงผนวช
ความจริงแล้ว เหรียญทรงผนวช ไม่ใช่เหรียญที่จัดสร้างเพื่อเป็นที่ระลึกเมื่อครั้งทรงผนวชโดยตรง ด้วยจัดสร้างขึ้นภายหลังจากที่ทรงลาผนวชแล้วถึงเก้าปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงผนวชในปี พ.ศ. 2499 แต่ "เหรียญทรงผนวช" สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2508 เพื่อเป็นที่ระลึกในการเสด็จฯ พระราชกุศล จาตุรงคมงคล
ประวัติความเป็นมาของการสร้าง เหรียญทรงผนวช มีอยู่ว่า ในปี พ.ศ. 2508 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมายุ 38 พรรษา เสมอสมเด็จพระราชบิดา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ บำเพ็ญพระราชกุศล ณ วัดบวรนิเวศวิหาร และในวโรกาสเดียวกันนี้ ได้ทรงประกอบพระราชพิธีสำคัญอีก 3 ประการต่อเนื่องกันไป เมื่อประมวลพระราชกรณียกิจที่ทรงบำเพ็ญในคราวเดียวกันถึง 4 อย่าง ระหว่างวันที่ 27 ถึงวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2508 จึงเรียกมหามงคลสมัยนี้ว่า จาตุรงคมงคล
จาตุรงคมงคล หรือการพระราชพิธีอันเป็นมงคล 4 ประการมีดังนี้
1. พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลพระชนมายุเสมอสมเด็จพระราชบิดา สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกพิธีจัดขึ้น ณ พระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร ในวันเสาร์ที่ 28 และวันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2508 ทรงทอดผ้าพระสงฆ์ 38 รูป ทรงประเคนผ้าไตร ย่าม และพัดที่ระลึกแก่พระสงฆ์ 38 รูปเท่าพระชนม์สมเด็จพระราชบิดา
2. พระราชพิธีหล่อพระพุทธรูปปางประทานพร มีพระปรมาภิไธย ภปร ประดับผ้าทิพย์ พิธีบวงสรวงและพุทธาภิเษกแผ่นโลหะที่จะผสมหล่อพระพุทธรูป จัดขึ้น ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร ในวันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2508 สำหรับพิธีเททองหล่อพระพุทธรูป จัดขึ้น ณ มณฑลพิธี สนามโรงเรียนวัดบวรนิเวศ ในวันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2508
3. พระราชพิธีฉลองสมโภชพระเจดีย์ ในวันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2508 เมื่อทรงเททองหล่อพระพุทธรูปปางประทานพรมีพระปรมาภิไธย ภปร ประดับผ้าทิพย์แล้ว เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระเจดีย์ทองหลังพระอุโบสถพระพุทธชินสีห์ ทรงประกอบพิธียกลูกแก้วขึ้นประดิษฐานยอดพระเจดีย์ เสด็จฯ ขึ้นสู่ภายในองค์พระเจดีย์ บูชาพระบรมสารีริกธาตุ ทรงปิดทองพระไพรีพินาศ และทรงเจิมพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระเจดีย์นี้ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชกาลที่ 3 ได้เริ่มสร้างขึ้นพร้อมกับวัดบวรนิเวศวิหาร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ได้ทรงสร้างต่อสมัยที่ยังทรงผนวชอยู่และเสด็จมาครองวัดนี้ ในปี พ.ศ. 2498 สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ โปรดให้ปฏิสังขรณ์โดยโบกปูนใหม่และขัดผิว ต่อมาผิวองค์พระเจดีย์หมองคล้ำไปมากและร่วงหลุดชำรุด ทางวัดฯ ได้บูรณะองค์พระเจดีย์อีกครั้ง ในปี พ.ศ. 2507 โดยฉาบปูนใหม่และประดับกระเบื้องสีทอง แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2508
4. พระราชพิธีอันเป็นมงคลประการที่สี่ ซึ่งเป็นลำดับสุดท้ายใน "จาตุรงคมงคล" คือ เมื่อเสร็จพระราชพิธีสมโภชพระเจดีย์แล้ว เสด็จพระราชดำเนินต่อไปยังพระอุโบสถ ทรงพระสุหร่าย ทรงเจิมศิลาแผ่นแรกที่จะผนึกผนังพระอุโบสถ เป็นปฐมฤกษ์ที่จะผนึกเปลี่ยนผนังพระอุโบสถในกาลต่อไปแผ่นศิลาปฐมฤกษ์ผนึกเปลี่ยนผนังพระอุโบสถนี้ จารึกข้อความว่า "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินทรงพระสุหร่าย ทรงเจิมแผ่นศิลาปฐมฤกษ์ ผนึกเปลี่ยนผนังพระอุโบสถนี้ ในมหามงคลสมัย มีพระชนมายุเสมอด้วยสมเด็จพระราชบิดา วันอาทิตย์ที่ ๒๙ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๐๘"
เนื่องใน "จาตุรงคมงคลสมัย" ดังกล่าวมาข้างต้น วัดบวรนิเวศวิหารได้จัดสร้างเหรียญที่ระลึก ด้านหนึ่งมีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขณะทรงผนวช ขอบเหรียญด้านบนมีข้อความว่า "ทรงผนวช ๒๔๙๙" มีพระปรมาภิไธยว่า "ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ภูมิพโล" ซึ่งถ่ายจากลายพระหัตถเลขาในสมุดทะเบียนของวัดในขณะทรงผนวช อีกด้านหนึ่งมีรูปพระเจดีย์วัดบวรนิเวศวิหาร มีข้อความโค้งตามขอบเหรียญว่า "เสด็จฯ สมโภชพระเจดีย์ทองบวรนิเวศ ๒๙ สิงห์ ๒๕๐๘ ในมงคลสมัยพระชนมายุเสมอสมเด็จพระราชบิดา" ความเป็นมาของ "เหรียญทรงผนวช" จึงมีด้วยประการฉะนี้
1259 ครั้ง
ไตรรัตนฤทธิ์
0863377266
trirattanaritamulet